ที่ตั้งและอาณาเขต
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 ตั้งอยู่ ณ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีจังหวัดในเขตความรับผิดชอบ 5 จังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิจิตร จังหวัดเลย และจังหวัดอุตรดิตถ์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 29.668 ล้านไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดลพบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดชัยภูมิ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดกำแพงเพชร

ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1.บริเวณพื้นที่ราบน้ำทั่วถึง หรือบริเวณพื้นที่ราบต่ำ มีเนื้อที่ประมาณ 6,601,631 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.25 ของพื้นที่ทั้งหมด จะอยู่ใกล้สองฝั่งลำน้ำต่างๆ ซึ่งบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำดังกล่าวจะได้รับอิทธิพลก่อให้เกิดน้ำท่วมในฤดูฝน
เป็นประจำ พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นที่ราบลุ่ม
2.บริเวณพื้นที่ราบ พื้นที่ค่อนข้างราบ และพื้นที่ราบเชิงเขา หรือพื้นที่ดอน มีเนื้อที่ประมาณ 11,323,240 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 38.17 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นบริเวณที่อยู่เหนือขึ้นมาจากที่ลุ่ม
3.บริเวณพื้นที่เป็นเนินเขาและภูเขา หรือพื้นทีสูง มีเนื้อที่ประมาณ 11,743,139 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 39.58 ของพื้นที่ทั้งหมด
เป็นบริเวณพื้นที่ที่อยู่เหนือขึ้นมาจากพื้นที่ราบ พื้นที่ค่อนข้างราบ และพื้นที่ราบเชิงเขา มีความลาดชันมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะภูมิอากาศ
อยู่ในภูมิอากาศแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู (Tropical Savannah “Aw”) ตามระบบ “koppen คือมีอากาศแห้งแล้งในฤดูหนาว ซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาวอย่างเห็นได้ชัดใครจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง
ลักษณะภูมิอากาศที่กล่าวนี้อาจแบ่งได้เป็น 3 ฤดู คือ
1.ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ถึงเดือน กันยายน
2.ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงเดือน มกราคม
3.ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือน เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 36.04 องศาเซลเซียส และต่ำสุด 18.92 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,261.32 มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 71.64 เปอร์เซ็นต ์

การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร
การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
1.ทำนาปลูกข้าวเนื้อที่ประมาณ 7,511,940 ไร่ หรือ 25.32 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ดอน และพื้นที่ราบเชิงเขาที่มีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงฤดูฝน สามารถใช้ปลูกข้าวได้ และในช่วงฤดูแล้งสามารถปลูกพืชได้
2. ปลูกผัก พืชไร่ ไม้ผล เนื้อที่ประมาณ 11,140,337 ไร่ หรือ 37.55 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรน้ำฝน
3. ป่าไม้ เนื้อที่ประมาณ 10,357,102 ไร่ หรือ 34.91 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ควรสงวนรักษาไว้เป็นป่าไม้
4. อื่นๆ ได้แก่ ทางส่งน้ำ ถนน ที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ อาคารพาณิชย์ โรงงานฯ เนื้อที่ประมาณ 658,629 ไร่ หรือ 2.22 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลและการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ทรัพยากรดินในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8
ทรัพยากรดินในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 สามารถแบ่งได้ตามลักษณะภูมิประเทศ ได้ 3 ลักษณะคือ พื้นที่ราบต่ำ พื้นที่ดอน และพื้นที่สูง ซึ่งมีลักษณะ คุณสมบัติ ปัญหาข้อจำกัด และแนวทางแก้ไข ดังนี้
1. ดินในพื้นที่ต่ำ ประกอบด้วยกลุ่มชุดดิน จำนวน 19 กลุ่ม คือกลุ่มชุดดินที่ 1 2 3 4 5 6 7 8 15 16 17 18 19 21 22 23 24 25 และ 59 มีพื้นที่รวมประมาณ 6,601,631 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.25 ของพื้นที่ทั้งหมด สามารถแบ่งได้ตามคุณสมบัติและลักษณะที่สามารถตรวจสอบประเมินได้ คือ
1.1 ตามลักษณะของเนื้อดิน ประกอบด้วย ประเภทเนื้อดินที่เป็นดินเหนียว หรือดินเหนียวจัด เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง และเนื้อดินเป็นดินร่วน หรือดินร่วนปนทรายแป้ง หรือร่วนปนทราย หรือทรายร่วน
ปัญหาและข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
1) การปลูกพืชผัก พืชไร่ ดินมักจะมีน้ำขังอยู่นานหลายวัน เละเฉอะแฉะ ดินแข็งมากเมื่อแห้ง
2) โครงสร้างของดินเสีย เนื่องจากการเตรียมดินเพื่อปลูกข้าว
3) มักจะขาดน้ำในช่วงฤดูแล้ง ในพวกดินเนื้อหยาบ เนื่องจากการอุ้มน้ำของดินได้น้อย
แนวทางแก้ไข
1) จำเป็นต้องปรับโครงสร้างของดินให้ร่วนซุย เพิ่มอินทรียวัตถุโดยการไถกลบฟางข้าว ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เปลือกถั่ว แกลบ ขี้เลื่อย ชานอ้อย ฯลฯ
2) ยกร่องแปลงปลูกพืช และขุดคูระบายน้ำ
1.2 ตามค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดิน แบ่งออกได้เป็นดินที่เป็นกรดแก่มากถึงแก่ pH ระหว่าง 4.5-5.5 ดินที่เป็นกรดแก่ถึงปานกลาง มีค่า pH ระหว่าง 5.0-7.0 และดินที่เป็นด่างเล็กน้อยถึงเป็นด่าง มีค่า pH ระหว่าง 6.0-8.0
ปัญหาและข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
1)ความเป็นกรดเป็นด่างจะทำให้ธาตุเหล็กและอลูมินัมละลายออกมามาก เกินความต้องการของพืช และตรึงธาตุแคลเซียม แมกนีเซียมไว้ไม่ให้เป็นประโยชน์ต่อพืช ทำให้พืชแสดงอาการขาดธาตุอาหาร
2) พืชจะได้รับธาตุแคลเซียม และแมกนีเซียมมาก ในดินที่เป็นด่าง แต่จะขาดธาตุฟอสฟอรัส เหล็ก ทองแดง สังกะสี
แนวทางแก้ไข
1) ปรับความเป็นกรดของดินโดยการใส่ปูนมาร์ล โดโลไมท์ ปูนขาว และหินปูน ฯลฯ
2) เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินโดยการไถกลบเศษพืช ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และการใส่เศษซากพืช
3)ปรับลดระดับความเป็นด่างของดินโดยการใส่ธาตุซัลเฟอร์หรือสารประกอบที่มีธาตุซัลเฟอร์รวมอยู่ด้วย เช่นปุ๋ย
แอมโมเนียมซัลเฟต ยิปซั่ม
1.3 ตามระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการวิเคราะห์ดิน และประเมินจากผลการวิเคราะห์ธาตุ สมบัติทางเคมีของดิน 5 ประการ คือ ปริมาณอินทรียวัตถุ (OM) ความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวก (CEC) ปริมาณการอิ่มตัวด้วยด่าง (B.S.) ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ได้ (Avaiable P) และปริมาณโปแตสเซียมที่เป็นประโยชน์ได้ (Available K) แล้วแบ่งออกเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปานกลาง และสู ง
ปัญหาและข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
1) ดินจะขาดธาตุอาหารพืชบางอย่าง หรือหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน
2)ถ้าใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันบางๆจะทำให้เกิดการสะสมธาตุอาหารหลักแต่พืชจะขาดธาตุอาหารรองและจุลธาตุ ความสมดุล
ของธาตุอาหารในดินเสียไป
แนวทางแก้ไข
1)การเพิ่มธาตุอาหารต่างๆให้แก่ดินโดยการใส่ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้องและเหมาะสมรวมทั้งต้องเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่
ดิน โดยการไถกลบเศษซากพืชต่างๆ การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด
2) ทำการปลูกพืชตระกูลถั่วต่างๆสลับหมุนเวียนกับกับข้าว

2. ดินบนพื้นที่ดอน ประกอบด้วยกลุ่มชุดดินจำนวน 19 กลุ่ม คือ กลุ่มชุดดินที่ 26 27 28 29 31 33 35 36 37 38 39 40 41 43 44 45 46 47 48 49 52 54 55 56 60 และ 61 มีพื้นที่รวมประมาณ 11,323,240 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 38.17 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งดินบนพื้นที่ดอนมีความแตกต่างกันออกไปตามวัตถุต้นกำเนิดดิน สภาพพื้นที่ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ สามารถจำแนกดินบนพื้นที่ดอนตามคุณสมบัติและลักษณะที่ตรวจสอบประเมินได้ง่ายๆ ดังนี้
2.1สภาพความลาดชันของพื้นที่ และอัตราการชะล้างพังทลายของดินซึ่งสภาพความลาดชันได้แบ่งออกเป็นพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ มีความลาดชัน 0-2 % พื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มีความลาดชัน 2-5 % พื้นที่ลูกคลื่นลอนลาด 5-12 % พื้นที่เป็นลูกคลื่นลาดชันมีความลาดชัน 12-20 % และพื้นที่เนินเขา มีความลาดชัน 20-35 % และอัตราการชะล้างพังทลายของดิน จะมีส่วนสัมพันธ์กับความลาดชันของพื้นที่ ลักษณะและคุณสมบัติของดิน ปริมาณน้ำฝนและการใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่ที่มีการชะล้างพังทลายของดินเล็กน้อยถึงปานกลาง พื้นที่ทีการชะล้างพังทลายปานกลาง พื้นที่มีการชะล้างพังทลายปานกลางถึงรุนแรง
ปัญหาและข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
1) หน้าดินมีปริมาณการสูญเสียธาตุอาหารพืช และอินทรียวัตถุมาก ความสมบูรณ์ของดินหายไป
2) ดินล่างขึ้นมาแทนดินบน คุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
แนวทางแก้ไข
1) การไถเตรียมดินต้องทำในแนวระดับ ขาดความลาดชันของพื้นที่
2) มีการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำทั้งวิธีกลและวิธีพืช
3) ทำบ่อดักตะกอน
4) มีระบบการจัดการและการปลูกพืชแบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
2.2 เนื้อดินและการระบายน้ำของดินในพื้นที่ดอนนั้นเนื้อดินมีหลายประเภท ได้แก่ ดินเหนียว ดินร่วน ดินร่วนปนเหนียว ดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง ดินร่วนปนทราย ดินทราย ดินทรายปนดินร่วน การระบายน้ำของดินมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับเนื้อดิน การใช้ประโยชน์และการจัดการ ได้แก่ ดินที่มีการระบายน้ำดีปานกลางถึงดี ดินที่มีการระบายน้ำดี และดินที่มีการระบายน้ำดีถึงดีเกินไป
ปัญหาและข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
1) ดินมักจะอุ้มน้ำไว้ได้น้อย พืชที่ปลูกจะแสดงอาการขาดน้ำได้ง่าย
2) การชะล้างพังทลายของดินโดยน้ำฝนและน้ำไหลบ่าที่เกิดขึ้นบนผิวดินจะเกิดขึ้นได้อย่างรุนแรง
3) ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ พืชเจริญเติบโตช้าและแคระแกรน
แนวทางแก้ไข
1) เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดิน
2) ทำระบบป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม
2.3 ความลึกของดินและดินที่มีเศษหินปะปน ในพื้นที่ดอนจะมีความลึกของดินตั้งแต่ระดับลึกถึงลึกมาก ดินลึกปานกลางถึงลึก ดินตื้น ลักษณะของดินที่มีเศษหินปะปนประกอบไปด้วย ดินที่ไม่มีเศษหินปะปนเลย ดินที่มีเศษหินปะปนเล็กน้อย ดินที่มีเศษหินปะปนปานกลาง ดินที่มีเศษหินปะปนมาก
ปัญหาและข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
1) การไถพรวนเตรียมดินทำได้ยาก
2) การชอนไชของรากพืช เพื่อยึดลำต้น และหาอาหารมีน้อย
แนวทางแก้ไข
1) ไม่ไถพรวนดินมากเกินความจำเป็น
2) ปลูกพืชประเภทที่ไถพรวนน้อยหรือไม่มีการไถพรวนเลย ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ไม้ผล ไม้ยืนต้นต่างๆ
2.4 ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดิน ซึ่งประกอบไปด้วยดินที่เป็นกรดแก่มากถึงกรดแก่ มีค่า pH ระหว่าง 4.5-5.5 ดินที่เป็นกรดแก่ถึงกรดเล็กน้อยมีค่า pH ระหว่าง 5.0-6.5 ดินที่เป็นกรดแก่ถึงปานกลางมีค่า pH ระหว่าง 5.5-7.0 ดินที่เป็นกรดเล็กน้อยถึงเป็นด่างมีค่า pH ระหว่าง 7.0-8.0
ปัญหาและข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
1) ในดินที่เป็นกรดแก่หรือกรดจัด พืชขาดแคลเซียมมากๆ
2) ในดินที่เป็นด่าง พืชมักขาดฟอสฟอรัส เหล็ก ทองแดง สังกะสี
แนวทางแก้ไข
1) แก้ความเป็นกรดโดยใช้วัสดุปูนต่างๆ
2) เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดิน
3) ในดินด่างใส่ธาตุซัลเฟอร์ หรือสารที่มีธาตุซัลเฟอร์เป็นสารประกอบ
2.5 ความอุดมสมบูรณ์ของดิน สามารถแบ่งระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินได้เป็น ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำถึงปานกลาง ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินปานกลางถึงสูง
ปัญหาและข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
1) พืชแสดงอาการขาดธาตุอาหาร ชะงักการเจริญเติบโต ให้ผลผลิตน้อย ผลผลิตไม่มีคุณภาพ
แนวทางการแก้ไข
1) ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ให้เหมาะสม โดยการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ และเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดิน โดยการไถกลบเศษพืช ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด
2) การจัดระบบการปลูกพืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสม
3. พื้นที่สูง ความลาดชันมากกว่า 35% ประกอบด้วยกลุ่มชุดดินจำนวน 1กลุ่มชุดดิน คือ กลุ่มชุดดินที่ 62 มีพื้นที่รวมประมาณ 11,743,139 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 39.58 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ไม่แนะนำให้ทำนา ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและอื่นๆ
ปัญหาและข้อจำกัด ในปัจจุบันมีเกษตรกรทั้งชาวไทยพื้นราบและชาวไทยภูเขา เข้าไปตัดต้นไม้ทำลายป่า เพื่อนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ทำให้ป่าไม้ถูกทำลาย พื้นที่ต้นน้ำลำธารลดลง ส่งผลกระทบต่อการเก็บกักน้ำ และการไหลของทางน้ำ ตลอดถึงความชุ่มชื้นของพื้นที่
แนวทางแก้ไข
1) ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า
2) ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ระบบนิเวศของป่ากลับคืนมา
นอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการอื่นๆ เช่น
1 น้ำท่วม
2 น้ำไม่พอ
3 สิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น แมลงศัตรูพืชอื่นๆ
แนวทางแก้ไข
1) ปรับปรุงแปลงนา โดยการขุดคูยกร่องดินกั้นน้ำ ระบายน้ำ
2) ขุดคูยกร่องเก็บกักน้ำ หรือปลูกพืชที่ใช้น้ำขัง
3) สร้างแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่ม
4) ทำระบบส่งน้ำ ระบบการให้น้ำ
5) ใช้พืชพันธุ์ใหม่ที่ต่างสายพันธุ์
6) ปลุกพืชสลับ หรือปลูกพืชหมุนเวียน
ดังนั้นจึงสรุปสภาพปัญหาทรัพยากรดินของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 ได้แก่
1. ดินมีปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน 15,928,754 ไร่
2. ดินเสื่อมโทรมขาดอินทรียวัตถุ 3,026,137 ไร่
3. ดินกรด 3,672,899 ไร่
4. ดินทรายจัด ดินค่อนข้างเป็นทรายจัด 682,364 ไร่
5. ดินตื้น 3,883,542 ไร่
6. การใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ถูกต้องตามศักยภาพ 1,839,416 ไร่
7. พื้นที่ไม่มีปัญหา 634,898 ไร่
รวม 29,668,010 ไร่